หัวเทียนทองคำขาว (Platinum Spark Plug)
คือแกนกลางของหัวเทียนทำจากโลหะทองคำขาวมีความบริสุทธ์ 99.99% มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 - 1.1 มม.เล็กกว่าหัวเทียนธรรมดา มีจุดหลอมละลาย 1,769 องศาเซลเซียส และมีคุณสมบัติต่อต้านการผุกร่อนจากเคมีและไฟฟ้าทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสูงหรือต่ำอย่างฉับพลันได้ดี หัวเทียนทองคำขาวที่แกนกลางเป็นโลหะทองคำขาวเป็นหัวเทียนที่นำไฟฟ้าได้ดีกว่าแกนกลางที่เป็นทองแดง และปลายหัวเทียนที่ไฟข้ามกระโดดจะแหลมเล็ก
ประสิทธิภาพของหัวเทียนทองคำขาวดีกว่าหัวเทียนธรรมดาคือ
1. ทนต่ออุณหภูมิความร้อนสูงได้มากกว่า
2. สามารถถึงอุณหภูมิความร้อนใช้งานได้เร็วกว่า
3. ไม่มีเขม่าเกาะจากการทำงานของหัวเทียนที่มีความร้อนสูงและเข้าถึงความร้อนได้เร็วขณะอุณหภูมิต่ำ
4. กระแสไฟฟ้าแรงสูงสามารถกระโดดข้ามหัวเทียนได้ดีมาก ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์
5. อายุการใช้งานนานประมาณ 100,000 กม.
จุดสังเกตุหัวเทียน
1. ปลายหัวเทียนที่กลมมนจะเกิดประกายไฟได้ยาก ปลายหัวเทียนที่เป็นทรงกระบอกแหลมเล็ก จะเกิดประกายไฟง่าย
2. ปลายหัวเทียนมีคราบเขม่า เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
3. คราบเขม่าจะเกาะติดแน่นบริเวณผิวกระเบื้องที่หุ้มแกนกลางของหัวเทียน จะทำให้เกิดกระเบื้องมีความต้านทานไฟฟ้าลดลงระหว่างฉนวนกระเบื้องกับโครงหัวเทียน ซึ่งจะทำให้ไฟแรงสูงเกิดการลัดวงจรไฟฟ้ากับโครงหัวเทียนและทำให้ไม่มีกระแสไฟกระโดดข้ามที่หัวเทียน ลักษณะนี้เรียก หัวเทียนบอด
4. การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เกิดจากลักษณะที่อุณหภูมิแกนกลางหัวเทียนต่ำกว่า 450 องศาเซลเซียส
5. อุณหภูมิทำงานที่ดี่ของเทียนตั้งแต่ 450 องศาเซลเซียส ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 950 องศาเซลเซียส
6. อุณหภูมิแกนกลางหัวเทียนที่สูงขึ้นจนถึง 950 องศาเซลเซียส ตัวแกนกลางเองจะกลายเป็นแหล่งที่สร้างความร้อนเสียเอง และทำให้เกิดการ 'ชิงจุดระเบิด' คือการจุดระเบิดของเชื้อเพลิงโดยไม่ต้องมีประกายไฟ ทำให้การจุดระเบิดของเครื่องยนต์ผิดพลาด จากสาเหตุที่แกนกลางหัวเทียนมีความร้อนสูงมากจนทำให้องค์ประกอบของการเผาไหม้ครบโดยไม่ต้องอาศัยประกายไฟจากเขี้ยวหัวเทียน สาเหตุจากการ ชิงจุดระเบิดนี้ทำให้เครื่องยนต์จะไม่มีกำลังเนื่องจากจังหวะการจุดระเบิดที่ไม่ถูกต้องตามจังหวะการเกิดประกายไฟปกติของเขี้ยวหัวเทียน
องค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ต้องมี 3 อย่าง จึงทำให้เกิดการเผาไหม้ได้ ส่วนการเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนขององค์ประกอบ ทั้ง 3 อย่าง การขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถทำให้เกิดการเผาไหม้ องค์ประกอบที่ว่านี้คือ 1. เชื้อเพลิง 2 อากาศ 3 ความร้อน ยกตัวอย่างองค์ประกอบที่ไม่ครบและไม่ทำให้เกิดการเผาไหม้ เช่น มอเตอร์ปั๊มเชื้อเพลิงในถังน้ำมัน หรือเรียกปั๊มติ๊ก ซึ่งเป็นปั๊มที่อยู่ในถังน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ ปั๊มติ๊กเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแช่อยู่ในน้ำมันในถัง ขณะที่รถวิ่งมอเตอร์ไฟฟ้าของปั๊มในถังน้ำมั้นทำงาน สร้างแรงปั๊มให้น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าระบบหัวฉีด ดังนั้นในขณะที่ปั๊มในถังน้ำมันทำงาน มีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง คือ 1. เชื้อเพลิง คือน้ำมันในถังน้ำมัน 2. ความร้อนที่เกิดจากการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้าในปั๊ม (แต่ความร้อนที่เกิดจากการหมุนของมอเตอร์ก็ถูกระบายออกผ่านน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง) ในขณะที่องค์ประกอบที่ 3 ที่ไม่มีในถังน้ำมันที่มีน้ำมันเต็มหรือมีน้ำมันเหนือมอเตอร์ปั๊มน้ำมัน คืออากาศ หรืออ๊อกซิเจน คือเมื่อน้ำมันท่วมปั๊มไม่มีอ๊อกซิเจนเป็นส่วนผสมทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ และขณะเดียวกันเมื่อน้ำมันใกล้หมดถัง ตัวน้ำมันชื้อเพลิงในถังน้ำมันเอง ก็ยังช่วยมอเตอร์ระบายความร้อนได้ และเมื่อน้ำมันหมดถังรถก็ไม่สามารถวิ่งได้ มอเตอร์ไม่หมุน ดังนั้นรถที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก ซึ่งสลับใช้น้ำมัน หรือใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง จึงควรมีน้ำมันในถังน้ำมันประมาณ 1/4 ของถังตลอดเวลาเพื่อให้น้ำมันท่วมตัวมอเตอร์ปั๊มเชื้อเพลิงที่อยู่ในถังป้องกันการลุกไหม้ที่เกิดจากความร้อนของมอเตอร์ปั๊มน้ำมัน เพราะรถที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเมื่อน้ำมันหมด ก็สลับไปใช้แก๊ส ทำให้รถวิ่งต่อไปได้ ขณะที่รถวิ่งไปได้ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงในถังก็ยังคงทำงาน ในถังมีไอน้ำมันและน้ำมันก้นถังค้างอยู่ จึงอาจเกิดการลุกไหม้จากความร้อนที่เกิดจากมอเตอร์ พร้อมกับมีอากาศ และมีเชื้อเพลิงคือไอน้ำมันและน้ำมันก้นถัง ในถังน้ำมัน
เมื่อติดตั้งแก๊สรถยนต์แนวคิดทางด้านพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกที่ใช้กับรถ ควรใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงหลัก ส่วนน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก คือเมื่อจำเป็นใช้แก๊สให้หมดก่อนแล้วจึงค่อยใช้น้ำมัน เชื้อเพลิงน้ำมันที่ใช้เพื่อเป็นทางเลือกและเพื่อสร้างการหล่อลื่นที่บ่าวาวล์ คือใช้เมื่อสตาร์รถและใช้เป็นเชื้อเพลิงไปประมาณ 5 กม. จึงสลับไปใช้ก๊าซ และอาจสลับไปใช้เชื้อเพลิงน้ำมันอีกครั้งตอนที่กำลังจะกลับบ้าน ก่อนถึงบ้านประมาณ 5 กม. เพื่อลดอุณหภูมิที่บ่าวาวล์และที่สำคัญ ควรหมั่นดูเกจวัดระดับน้ำมันให้มีประมาณ 1/4 ของถังเสมอ
7. ระยะห่างของเขี้ยวหัวเทียน จะต้องตั้งตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งปกติระยะห่างมาตรฐานของเขี้ยวหัวเทียนประมาณ 0.6 - 0.8 มม. หรือ 24 -31 ฟิลเลอร์ (ใช้ฟิลเลอร์เกจวัด ควรใช้ฟิลเลอร์เกจชนิดทรงกระบอก ไม่ควรใช้ฟิลเลอร์เกจชนิดแบนเหมือนใบมีด เพราะฟิลเลอร์เกจชนิดแบนอาจทำให้เขี้ยวหัวเทียนเสียหายขณะทำการตรวจวัดระยะห่างของเขี้ยวหัวเทียนที่ถูกต้องจะทำให้กระแสไฟฟ้าที่กระโดยข้ามเขี้ยวหัวเทียน ได้ดีและมีประกายไฟที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยทำให้ไอดีเกิดการเผาไหม้ได้รวดเร็วและเผาไหม้ได้สมบูรณ์
8. การใส่หัวเทียนในเบ้าหัวเทียนที่ไม่ดี อาจทำให้กำลังอัดของเครื่องยนต์รั่วออกมาทางเกลียวหัวเทียนได้ จึงควรขันหัวเทียนเข้ากับเกลียวหัวเทียนที่ฝาสูบให้แน่นตามค่าแรงขันที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์กำหนด
9. การเลือกหัวเทียนใส่กับฝาสูบรถยนต์ ต้องเลือกเกลียวหัวเทียนที่มีขนาดเท่ากับเกลียวใส่หัวเทียนที่ฝาสูบรถยนต์การเลือกหัวเทียนที่มีเกลียวที่หัวเทียนสั้นกว่า เกลียวที่ฝาสูบ จะทำให้เกิดคราบเขม่าที่เกลียวฝาสูบ เมื่อจะใส่หัวเทียนที่มีเกลียวที่ถูกต้องจะไม่สามารถใส่ได้เนื่องจากติดคราบเขม่าตามร่องเกลียว หรือถ้าเกลียวของหัวเทียนยาวกว่าเกลียวของฝาสูบ ก็จะมีเขม่าจับที่ปลายเกลียวของหัวเทียน ทำให้ถอดหัวเทียนยาก หัวเรียนร้อนจัดและมีไฟลุกไหม้จากความร้อนจนปลายหัวเทียนแดง
10. ปลายหัวเทียนที่มีคราบผงสีดำแห้ง สามารถเช็ดออกได้ง่าย แสดงว่าเครื่องยนต์มีส่วนผสมของไอดีหนา ควรปรับซ่อมระบบต่างๆ ที่ทำให้เกิดการผสมน้ำมันเชื้อเพลิง กับอากาศ
11. ปลายหัวเทียนเปียกด้วยน้ำมันเครื่อง แสดงว่าลูกสูบ แหวนลูกสูบ หรือกระบอกสูบ มีสภาพสึกหรอ ให้ทำการตรวจซ่อม
12. หัวเทียนมีสภาพไหม้กร่อน แสดงว่ามีความร้อนสูงเกินไป อาจเกิดจากการเลือกใช้ตัวหัวเทียนที่ผิดเบอร์ หรือใช้หัวเทียนชนิดร้อนมากเกินไป เครื่องยนต์ทำงานที่อุณหภูมิสูงเกินไป หรือเกิดจากการชิงจุดระเบิดจากที่เครื่องยนต์ร้อนจัด
13. หัวเทียนมีสีขาวหรือสีเหลืองจับปลายหัวเทียน แสดงว่าไฟออ่น แก้ไขโดยการตั้งไฟจุดระเบิดให้แก่ขึ้น คือตั้งก่อนศูนย์ตายบนให้ห่างมากขึ้น การตั้งไฟอ่อนคือตั้งไฟจุดระเบิดใกล้ศูนย์ตายบน หรือจุดที่ผ่านศูนย์ตามบนไปแล้ว
14. หัวเทียนมีสภาพแห้ง สีน้ำตาลอ่อน แสดงว่าการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์
ลักษณะการเสียของหัวเทียน
1. เขี้ยวหัวเทียนมีการสึกหรอ กุด ไหม้ มีคราบน้ำมันคราบน้ำมันที่เขี้ยวหัวเทียนเกิดจากส่วนผสมหนา การจุดระเบิดผิดพลาดไม่ถูกต้องตามจังหวะการจุดระเบิด, ขับขี่ตั้งไฟจุดระเบิดอ่อนไป หัวเทียนเป็นชนิดเย็นเกินไป หรือเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์
สาเหตุที่หัวเทียนกุด เกิดจากหัวเทียนร้อนจัดเกินไป ซึ่งมาจากการตั้งไฟจุดระเบิดแก่เกินไป, ส่วนผสมบางเกินไปหัวเทียนเป็นชนิดร้อนเกินไป ระบบหล่อเย็นระบบหล่อลื่นบกพร่อง ขันหัวเทียนไม่แน่น ใช้น้ำมันออกเทนต่ำเกินไป
2. กระเบื้อง ฉนวนหุ้ม แตกร้าว มีรอยไหม้ มีสีเหลือง เกิดจากไฟลัดวงจร
3. หัวเทียนที่หมดอายุการใช้งาน ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมัน การจุดระเบิดไม่ได้ตามจังหวะการจุดระเบิดที่ถูกต้องการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ มีเขม่าไอเสียสีดำจำนวนมาก จากท่อไอเสีย